วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลกระทบจากภาพยนตร์



แนวคิดเรื่องผลกระทบจากภาพยนตร์ที่มีต่อเด็ก
                ปัจจุบัน ภาพยนตร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมยามว่าง ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในสังคม และได้เข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการโน้มนำความคิด ทัศนคติของคนผ่านทางเรื่องราว และการแสดงออกของตัวละคร
                ภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจุบันนั้น มีทั้งภาพยนตร์ที่ทำเพื่อตอบสนองสังคมในเชิงเสริมสร้าง และทำเพื่อตอบสนองสังคมในเชิงความต้องการ(demand) จึงทำให้ภาพยนตร์มีความหลากหลายในด้านเนื้อหา สาระ และจุดประสงค์ของภาพยนตร์ ซึ่งจากความคิดตรงนี้ ทำให้ภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องนั้นมีความอ่อนโยน รุนแรง ให้ข้อคิด หรือให้ความสนุกแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังส่งผลกระทบต่อเด็กในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
-          ด้านความรุนแรง แม้กระทั่งในภาพยนตร์การ์ตูนก็ยังมีภาพความรุนแรงให้เห็นได้บ่อย ๆ แน่นอนว่าอาจก่อให้เกิดความเคยชินให้กับตัวเด็ก ส่งผลต่อการเลียนแบบ เด็กในวัย 6- 12 ปี ซึ่งอาจจะเดินเข้าไปดูภาพยนตร์น้อยกว่าวัยอื่นๆ แต่อาจจะรับชมจากภาพยนต์จากแผ่นที่พ่อแม่เปิดดูที่บ้าน ซึ่งถ้าเด็กดูแล้วเกิดการเลียนแบบ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าพฤติกรรมเลียนแบบของลูกเป็นเรื่องน่ารัก สนุกสนาน พฤติกรรมนั้นอาจติดตัวเด็กไป แต่ถ้าพ่อแม่สอนว่าอะไรควรอะไรไม่ควรก็จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
-          ทางด้านเพศ  เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันมีภาพยนตร์ที่สื่อถึงเพศที่สามจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดค่านิยมและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาททางเพศของเด็ก รวมไปถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยตรง เช่น  American pie เป็นต้น สร้างความเคยชินให้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น อาจเข้าใจผิดหรือเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกวิธี
-          การใช้ภาษา โดยเฉพาะในภาพยนตร์ตลกส่วนใหญ่มีการใช้ภาษาหยาบคาย สร้างความเคยชินให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว  เด็กอาจจะแยกไม่ออกว่าคำพูดไหนควรไม่ควร และแยกไม่ได้ว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงบทสนทนาที่สร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
-          สารเสพติด การที่เด็กเห็นภาพที่ตัวละครเอก ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กเสพย์สารเสพติด เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ และเด็กเกิดการซึมซับว่า หากตนต้องการเป็นคนที่เป็นฮีโร่ ก็ต้องเสพย์สารเสิพติด เพื่อความเท่ห์ ดูดี ต้องการการยอมรับจากเพื่อน หรือสังคม
-          ความเชื่อ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่สามารถสร้างระบบความคิดความเข้าใจที่ผิด ๆ ได้ เพราะเด็กเองยังไม่สามารถแยกแยะว่า สิ่งใดเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความบันเทิง ไม่ใช่เรื่องจริง เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้เรื่องค่านิยม หากเด็กได้ชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา  พระวิ่งหนีผี กลายเป็นการปลูกฝังความเชื่อ ความกลัวให้ติดตัวเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กต่อไป
-          ค่านิยม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาตินิยม เช่น ภาพยนตร์เรื่องหมากเตะโลกตะลึง เป็นการล้อเลียนชาติอื่น ทำให้เด็กถูกสร้างค่านิยมในการดูถูกชาติอื่น
                จากประเด็นตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเซนเซอร์ หรือการจัดเรทภาพยนตร์ เพื่อให้ภาพยนตร์ต่างๆที่มีความหลากหลายนั้น ไม่ส่งผลกระทบในด้านที่ไม่ดีต่อคนในสังคม โดยเฉพาะเด็ก เนื่องจากว่าเด็กนั้น ยังเป็นวัยที่ไม่มีความมั่นคงทางความคิดเชิงเหตุและผล เป็นวัยที่ชอบเลียนแบบ และเป็นวัยที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมตรงนี้แล้ว อาจจะทำให้เด็กในสังคมของเรามีพฤติกรรมที่ไม่ถูกไม่ควร โดยมีสาเหตุมาจากภาพยนตร์ได้ โดยสามารถที่จะอธิบายแนวความคิดได้ 3 แนวทาง คือ
                1.แนวความคิดทางด้านชีววิทยา – กล่าวโดยภาพกว้างแล้ว พัฒนาการสมองของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะสมองส่วนที่เรียกว่า Prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองที่ทำหน้าที่เหมือน CEO (ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับเหตุผล) ซึ่งหากในวัยเด็กได้รับข้อมูลเข้ามา เด็กก็จะยังไม่สามารถแยกแยะความเป็นเหตุและผลได้ ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่อาจจะเลียนแบบมาจากในภาพยนตร์ เช่นการสูบบุหรี่ การใช้ความรุนแรง หรืออาจจะเป็นในด้านความเชื่อ หรือทัศนคติต่างๆที่อาจจะทำให้ติดตัวเด็กไปในอนาคตได้
                2.แนวความคิดทางด้านจิตวิทยา – พฤติกรรมในวัยเด็กซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สำคัญคือ พฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งมีนักจิตวิทยาชาวแคนาดาท่านหนึ่ง มีชื่อว่าอัลเบิร์ต แบนดูรา(Albert Bandura) ได้พูดถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางสังคม(Social Learning Theory) มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “เด็กจะไม่ค่อยทำตามในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกให้กระทำ แต่จะทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำ” แสดงให้เห็นว่าหากในภาพยนตร์ มีการแสดงออกอะไรแล้ว เด็กก็อาจจะทำตามภาพยนตร์ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เด็กก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ และอาจจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมติดตัวที่ไม่ดีต่อไปในอนาคตได้
                3.แนวความคิดทางด้านสังคมวิทยา – กระบวนการที่สำคัญ และสามารถสื่อผ่านภาพยนตร์ได้คือกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(Socialization) ซึ่งภาพยนตร์สามารถที่จะโน้มนำ ชี้นำทัศนคติของสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น หากภาพยนตร์พยายามที่จะเน้นเรื่องการรักษาวัฒนธรรม พยายามสนับสนุนเรื่องการรักษาวัฒนธรรม ก็จะส่งผลมาถึงสังคม และที่สำคัญในทัศนคติของเด็ก กระบวนการแยกย่อยที่สำคัญของกระบวนการขัดเกลาทางสังคมคือ “กระบวนการขัดเกลาทางสังคมขั้นปฐมภูมิ” (Primary Socialization) ซึ่งมีใจความว่า การขัดเกลาขั้นปฐมภูมิจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กได้เรียนรู้ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำที่เหมาะสมจะเป็นสมาชิกหนึ่งในวัฒนธรรมนั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น หากเด็กได้เห็นพ่อแม่แสดงออกถึงพฤติกรรมการแบ่งแยกสีผิว เด็กก็มีแนวโน้มว่าพฤติกรรมนั้นๆยอมรับได้ และก็จะมีความคิดอย่างนั้นสืบเนื่องต่อไป จึงสามารถอธิบายได้เช่นเดียวกับภาพยนตร์ หากเด็กมีทัศนคติเปลี่ยนไปตามภาพยนตร์ แล้วภาพยนตร์นั้นๆมีแนวความคิดที่ไม่ดีต่อสังคม ก็จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสังคม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น